ข่าวประชาสัมพันธ์
อัสสัมชัญธนบุรี ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. พัฒนาหลักสูตรเตรียมเยาวชนไทยสู่ยุค AI
อัสสัมชัญธนบุรี ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. พัฒนาหลักสูตรเตรียมเยาวชนไทยสู่ยุค AI
 
วันที่ 9 ต.ค. 63 ที่ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในของด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยมี ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้การร่วมมือกันนั้นมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนและบูรณาการหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project based Learning) ในการจัดการเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and AI)โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญญาในชีวิตจริง  (STEM Education)
 
ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (ACT) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในสังคมยุคปัจจุบัน และการคาดการณ์ต่อการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีในสังคมอนาคต ทำให้โรงเรียนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเด็กไทยให้มีทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับแนวโน้มของการพัฒนาการทางด้านสังคมในศตวรรษที่ 21 จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมและวิทยาการหุ่นยนต์จึงเป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนที่ควรได้รับการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อจะได้เกิดความคุ้นเคยและมีทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้เทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะสร้างหลักสูตรและรูปแบบการสอน โดยบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาประยุกต์รวมกับหลักสูตรการเรียนการสอนปกติ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีด้วยการลงมือปฏิบัติจริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านเนื้อหาทฤษฎี
 
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทค มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่เศรษฐกิจและสังคม ในยุคที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิสรัปทิฟ (Disruptive technology) ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกอนาคต การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมให้มีทักษะที่จำเป็นจึงไม่ใช่ภาระหน้าที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น การร่วมมือกับโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในการพัฒนาต้นแบบสื่อการเรียนการสอนและหลักสูตรเชิงบูรณาการสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 นับเป็นมิติใหม่ในการวางรากฐานการปฏิรูปการเรียนการสอนแบบ STEM Education อย่างเป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายเพื่อสร้างเด็กไทยให้มีความรู้และทักษะที่พร้อมจะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และก้าวสู่การเป็น ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมของโลกอนาคตได้
 
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับรองและก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเน้นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและบูรณาการเพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน เตรียมพร้อมคนก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในโอกาสที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติจัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงานด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับการเรียนการสอนในระดับมัธยม ให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้เรียนในอนาคต รวมถึงหากมองไปข้างหน้าจะพบว่า การส่งเสริมการศึกษาด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นการปฏิบัติจริงและการศึกษาข้อมูลเชิงลึก เป็นการบ่มเพาะเยาวชนและสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Innovation ในประเทศไทย
 
ว่านทิพย์ เขมพัฒน์กิตติโชค / รายงาน
โพสเมื่อ : 10 ต.ค. 2563,15:14   อ่าน 628 ครั้ง