ข่าวประชาสัมพันธ์
เสนอคุ้มครองสิทธิในกระบวนยุติธรรมชั้นสอบสวนของบุคคลหลากหลายทางเพศ แนะสถานีตำรวจ-ราชทัณฑ์ แยกพื้นที่ควบคุมตัว สนับสนุนให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
กสม. เสนอคุ้มครองสิทธิในกระบวนยุติธรรมชั้นสอบสวนของบุคคลหลากหลายทางเพศ แนะสถานีตำรวจ-ราชทัณฑ์ แยกพื้นที่ควบคุมตัว สนับสนุนให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ 
 
นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 33 เรื่อง กล่าวอ้างว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในชั้นการสืบสวนสอบสวนจากผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีความประสงค์ขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงปฏิบัติหน้าที่ที่มีความละเอียดอ่อนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การจับกุม การตรวจค้นตัว การตรวจปัสสาวะ และขอให้จัดพื้นที่ให้บริการโดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับมีกรณีร้องเรียนว่าเรือนจำไม่จัดให้มีห้องขังผู้ต้องขังสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยปรากฏข้อมูลระหว่างปี 2563 - 2565 มีสถิติเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 
 
กสม. จึงได้รวบรวมสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียน ศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างการปฏิบัติในต่างประเทศ คำวินิจฉัย คำพิพากษา แล้วเห็นว่า แม้ว่าสังคมไทยจะมีการเปิดกว้างและยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ยังมิได้ให้การรับรองสถานะทางกฎหมายของบุคคลข้ามเพศให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามเพศสภาพของตนเองได้ และยังมิได้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการค้นตัวผู้ต้องหา การตรวจตัวผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย รวมทั้งการถามปากคำผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศให้คุ้มครองสิทธิครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน กสม. จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือ การสร้างความตระหนักรู้และการสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าพนักงานตามกฎหมายซึ่งเป็นต้นทางแห่งความยุติธรรมให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงแนวทางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติหน้าที่บนหลักของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีทัศนคติเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการแก้ไขบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในชั้นสอบสวนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สรุปได้ดังนี้
 
1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
 
การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สถานีตำรวจทุกแห่งจัดสรรสถานที่ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความมิดชิดเป็นส่วนตัวสำหรับบุคคลทุกเพศ รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจแต่ละแห่ง ใช้อำนาจสั่งการให้มีการจำแนกห้องควบคุมเป็นการเฉพาะคราวได้เพื่อควบคุมตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับกรณีมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน และในการค้นตัว ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพศเดียวกันค้นตัวผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามก่อนด้วยความสุภาพ โดยคำนึงถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องหา การเปลี่ยนแปลงของเพศสรีระ และจัดเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายแจ้งความจำนงเป็นผู้ตรวจค้น
 
การควบคุมตัวในชั้นราชทัณฑ์ ให้กรมราชทัณฑ์จำแนกประเภทและแยกการคุมขังผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะต่างหาก โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
 
นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) จัดทำคู่มือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อไป  
 
2) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
 
ให้กระทรวงยุติธรรม เร่งผลักดันให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. .... เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศด้วย นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ควรแก้ไขให้อำนาจคณะกรรมการ วลพ. สามารถหยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยเองได้ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
โพสเมื่อ : 29 ก.ย. 2565,13:40   อ่าน 210 ครั้ง