ข่าวประชาสัมพันธ์
10 ชาติอาเซียนผนึกกำลัง ตั้งศูนย์ ASEAN CERT ต้าน Scam
10 ชาติอาเซียนผนึกกำลัง ตั้งศูนย์ ASEAN CERT ต้าน Scam                                                             
 
10 ชาติอาเซียน ผนึกกำลังร่วมมือ Cybersecurity ตั้ง ASEAN CERT ต้านอาชญากรรมออนไลน์                                                 
 
 
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : AMCC) และการประชุม AMCC วาระพิเศษ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ที่ประเทศ สิงคโปร์ โดยมี นางโจเซฟิน ทีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม  และมีรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากประเทศอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป                                                            
 
   โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เปิดเผยว่า  ทุกวันนี้ต้องยอมรับ ว่าเรื่องปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์ เป็นปัญหาระดับชาติ ในโลกไร้พรมแดน ดังนั้น การผนึกกำลังร่วมกัน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทางสมาชิกอาเซียนมีความเห็นตรงกัน ที่จะจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์  ที่ชื่อว่า ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre)  หรือ  ASEAN CERT เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ พร้อมการการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ฝึกอบรม ภาคประชาชน ให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์  ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่นเดียวกับ 
ประเด็นระดับโลกอื่น ๆ การปกป้องพื้นที่ไซเบอร์ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐ 
   อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่รัฐ เช่น บริษัทเทคโนโลยี ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน รัฐจะต้องพิจารณาว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่รัฐควรมีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่ไซเบอร์อย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของโลกดิจิทัลต่อไปได้ ประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจาอาจแบ่งปันประสบการณ์การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่รัฐในการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
 
   สำหรับคณะผู้เเทนไทย ประกอบด้วย พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม  ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในครั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกันในประเด็นหลักเกี่ยวกับการจัดการความท้าทายและภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์    ผ่านการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติ การหารือถึงแนวทางหรือกลไกสำหรับการประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอาเซียน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านบรรทัดฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภูมิภาคอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ  และทางเทคนิค การสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคผ่านการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII)  การประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งที่ประชุมฯ ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะสร้างความมีเสถียรภาพและความปลอดภัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทาง  ในการดำเนินงานและส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของภูมิภาคอาเซียนให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในอนาคตต่อไป
โพสเมื่อ : 20 ต.ค. 2565,11:07   อ่าน 173 ครั้ง