 |
ข่าว ภูมิภาค |
 |
มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่เวทีโลกด้านยาและสุขภาพ
พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่เวทีโลกด้านยาและสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 มิถนายน 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและแถลงข่าว ในกิจกรรมแถลงข่าวงานวิจัย นวัตกรรมเด่น กิจกรรมของมหาวิทยาลัย และรับรองสื่อมวลชน ครั้งที่ 4 (แถลงข่าว 35 ปี มหาวิทยาลัยนเรศวร) ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกล่าวถึงความสำเร็จของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของการพัฒนายาแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล และระบบนิเวศเพื่อการส่งเสริมบริการสุขภาพด้วยนวัตกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการของอาเซียน เพราะมหาวิทยาลัยนเรศวรมีความโดดเด่นด้าน
ยาสมุนไพรและการบริการทางด้านสุขภาพเฉพาะทาง และได้เล็งเห็นโอกาสของการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ จากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยา และบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่การเริ่มการวิจัยพื้นฐานและวิจัยทางสาธารณสุข ไปจนถึงการส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร มีความเชี่ยวชาญความสามารถและความชำนาญในระบบนิเวศน์ที่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมยาและบริการสุขภาพอย่างครบวงจร อาทิ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปลูกสมุนไพร และควบคุมคุณภาพสมุนไพร ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวร มีโรงงานสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดน้ำ ของคณะเภสัชศาสตร์ (NU Herbal) และได้ก่อตั้งโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน GMP จึงเป็นหน่วยผลิตที่ครอบคลุมการผลิตยาสมุนไพรที่ครบวงจร
นอกจากนี้ เพื่อควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของยา มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเพียงแห่งเดียว ที่มีสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AAALAC International และ OECD GLP. ในส่วนของห้องปฏิบัติการ ได้ Certificate Animal Biosafety Level 3 (ABSL-3)
และมีสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (CosNat) ของคณะเภสัชศาสตร์ พร้อมทั้งสถานพัฒนามาตรฐานและเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตร (OASSAR) ของคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ที่ครอบคลุมการวิเคราะห์ทางกายภาพและทางเคมี การทดสอบสารตกค้าง การทดสอบประสิทธิภาพทั้งในระดับหลอดทดลองและในเซลล์ จึงเชื่อมั่นได้ว่าผลิตภัณฑ์ทางยาที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยเป็นไปตามข้อกำหนดสำคัญของการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ สามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก และร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำตลาดยา และพร้อมที่จะส่งต่อสู่ระบบบริการสุขภาพแบบครบวงจร เพราะมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super Tertiary Care) และมีสถานบริการแพทย์แผนไทยที่ได้รับการรับรอง ตลอดจนสามารถผลิตกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาค (GRP) ของภาคเหนือตอนล่างเติบโตประมาณ 0.7%-1% ภายใน 3 ปี และช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (GPP) ของจังหวัดพิษณุโลกเติบโตประมาณ 2.24% ในปีแรก ธันย์ชนก ทองเพิ่ม ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก
|
โพสเมื่อ :
26 มิ.ย. 2568,16:42
อ่าน 24 ครั้ง
|