ข่าว ภูมิภาค
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. สสจ.ปทุมธานี ค้น 6 ร้านยามหาภัย รวบ 6 เภสัชเก๊ เครือข่ายกระจายยาแก้ไอให้วัยรุ่นสาย 4x100
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. สสจ.ปทุมธานี ค้น 6 ร้านยามหาภัย รวบ 6 เภสัชเก๊
เครือข่ายกระจายยาแก้ไอให้วัยรุ่นสาย 4x100
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.พัฒนพงศ์ ศรีพิณเพราะ,
พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรณทอง รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี โดย นพ.นนท์ จินดาเวช นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้จำหน่ายยาแก้ไอในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ผู้จำหน่ายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 6 ราย พบเปิดเป็นร้านยาเพื่อเป็นเครือข่ายกระจายยาแก้ไอให้วัยรุ่นใช้ผสมน้ำต้มใบกระท่อม
พฤติการณ์สืบเนื่องจากจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้จับกุมเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมและร้ายขายยาที่จำหน่ายยาแก้ไอให้กลุ่มวัยรุ่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในหลายพื้นที่ก่อนหน้านี้ โดยน้ำไปผสมน้ำต้มใบกระท่อมดื่มเพื่อสร้างความมึนเมา
โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบว่า ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี มีร้านยาที่เปิดในลักษณะเครือข่ายหลายร้าน ซึ่งมีเจตนาจำหน่ายยาแก้ไอโดยเฉพาะ โดยมีการอำพรางโดยวางยาประเภทอื่นไว้เพียงเล็กน้อย และบางร้านจำหน่ายเฉพาะยาแก้ไอโดยไม่มียาประเภทอื่นจำหน่ายภายในร้านเลย
จนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก. ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานกรรมการอาหารและยา(อย.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ปทุมธานี ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบร้านขายยาในพื้นที จ.ปทุมธานี จำนวน 6 ร้านได้แก่
 1. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว น.ส.ธิดารัตน์ฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต”
 2. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว น.ส.ทาริณีฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต”
 3. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว นายสิทธิโชคฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 ข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต”
 4. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว น.ส.ศรสวรรค์ฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ข้อหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” และ “มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” โดยร้านดังกล่าวมิใช่สถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขายยา
 5. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว น.ส.จรรยาฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต”
 6. ร้านยาแห่งหนึ่ง ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุมตัว น.ส.กมลภัคฯ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้รับจ้างขายยาให้ร้านดังกล่าว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ข้อหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” และ “มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” โดยร้านดังกล่าวมิใช่สถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขายยา
จากการสืบสวนขยายผล พบว่าร้านที่เข้าตรวจทั้ง 6 ร้าน เป็นร้านเครือข่าย ที่มีผู้รับอนุญาตเป็นคนนามสกุลเดียวกัน โดยสองในหกเป็นร้านที่ไม่มีใบอนุญาตร้านเหล่านี้ มุ่งเปิดร้านเพื่อทำการขายยาน้ำแก้แพ้แก้ไอหรือยาเขียวเหลืองเพื่อนำไปผสมเป็นสูตร 4 × 100 นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้รับอนุญาตรายนี้
เคยถูก อย. สั่งพักใช้ใบอนุญาต และได้ขอยกเลิกใบอนุญาต จากนั้นย้ายร้านมาเปิดแถวปทุมธานีหลายร้าน พอมีการตรวจจับก็มาขอยกเลิกใบและไปขอเปิดร้านใหม่
รวมตรวจค้น 6 จุด ตรวจยึดของกลาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 123 รายการ โดยเป็นยาแก้แพ้แก้ไอ 10,525 ขวด, ยาเขียวเหลือง 57,960 เม็ด มูลค่ากว่า 844,260 บาท จับกุมผู้ต้องหาซึ่งไม่ใช่เภสัชกรและไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม จำนวน 6 ราย โดยผู้ต้องหาจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 ราย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
- ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000 - 5,000 บาท
- สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ(เภสัชกร) มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยา อันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการตรวจจับครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจเฝ้าระวังร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์ขายยาน้ำ กลุ่มแก้แพ้ แก้ไอให้กับวัยรุ่น กลุ่มเยาวชน โดยนิยมเปิดร้านในแหล่งที่เป็นย่านการศึกษาหรือในชุมชน ซึ่งมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มและมักเปิดในช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ โดย อย.ได้ร่วมกับ กองกำกับการ 4 บก.ปคบ. ในการกวาดล้างร้านขายยาเครือข่าย ที่มีการขอใบอนุญาตขายยาเพื่อบังหน้า มีการขอใบอนุญาตหลายใบโดยบุคคลเดียวกัน เพื่อหวังโควต้าการรับซื้อยาน้ำแก้ไอ จากโรงงานผู้ผลิตโดยลักษณะของร้านเหล่านี้ ภายในร้านมีรายการยาอื่นอยู่น้อยรายการ และมีการซุกซ่อนยาแก้ไออยู่ในลิ้นชัก และตู้ทึบ หรือเก็บไว้หลังร้าน และคนขายยาไม่ใช่เภสัชกร นอกจากนี้ ยังพบว่ายาแก้ไอที่ตรวจพบในร้านเหล่านี้เป็นยายี่ห้อเดียวกัน ซึ่งเป็นที่นิยมนำไปใช้ในทางที่ผิดคือ
ใช้ผสมในสูตรสี่คูณร้อย
ที่ผ่านมา อย. ได้เฝ้าระวังกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ซึ่งเป็นยาอันตราย ที่ต้องควบคุมการผลิตและขายให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยแหล่งที่จะขายยาดังกล่าวได้ต้องเป็นร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้จ่ายยาต้องเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของร้านเท่านั้น นอกจากนี้ อย.ได้มีประกาศให้ผู้รับอนุญาตผลิตและขายยาดังกล่าวไปยังร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตไม่เกินเดือนละ 300 ขวด ต่อแห่ง และร้านขายปลีกสามารถขายให้แก่ประชาชนได้ครั้งละไม่เกิน 3 ขวด สำหรับร้านที่ตรวจพบพฤติการณ์ขายยาอันตรายนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น นอกจากผู้ขายจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมแล้ว ผู้รับอนุญาตจะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วัน อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้รับเบาะแสให้ตรวจสอบร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่เปิดเพื่อขายเฉพาะยาบางชนิดเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นซื้อไปผสมเครื่องดื่มสร้างความมึนเมา ไม่ได้ขายยาเพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนซื้อยาเพื่อรักษาโรค
โดย กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. ตรวจสอบ เฝ้าระวังการผลิตและขายยาดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งในส่วนการผลิตยาปลอม และผู้จำหน่ายกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มวัยรุ่นในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา โดยประชาชนทั่วไปหากพบผู้ขายยาตามร้านขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
 
โพสเมื่อ : 09 ก.ค. 2568,16:19   อ่าน 7 ครั้ง