Matichon News Center
ดูข่าว
ทุเรียนยะลาคึกคัก ฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนสะเด็ดน้ำ
อับดุลหาดี/ยะลา/8 ส.ค. 66
ทุเรียนยะลาคึกคัก ฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนสะเด็ดน้ำมาถึงหลังครบกำหนดตัด 120 วัน รองผู้ว่าฯยะลา เบิกฤกษ์ตัดมีดแรก พร้อมส่งเสริมเกษตรกรขอใบรับรอง GAP ประเมินผลผลิตทุเรียนยะลาปีนี้ กว่า 76,741 ตัน คาดยอดเงินสะพัดในพื้นที่เกือบ 10,000 ล้านบาท
วันนี้ 8 ส.ค.66 สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ได้จัดงานเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ประจำปี 2566 ซึ่งครบกำหนดตัด 120 วัน ณ ที่ทำการแปลงใหญ่ทุเรียน ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายยงยุทธ นิชลานนท์ นายอำเภอกรงปินัง นายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลา ส่วนราชการ เกษตรกรทุเรียนแปลงใหญ่ เข้าร่วม เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ตลอดจนนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งมาตรการในการควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด โดยกำหนดให้เกษตรกร ผู้รับซื้อและผู้มีอาชีพตัดทุเรียนเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเวลาที่เหมาะสม ครบกำหนดตัด 120 วัน เพื่อสร้างคุณภาพของทุเรียนสะเด็ดน้ำจังหวัดยะลา
นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การผลิตทุเรียนคุณภาพจังหวัดยะลา จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งในชายแดนภาคใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 4,521.078 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,825,673.75 ไร่ ประชาชนในจังหวัดยะลา ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตร 1,550,923 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.11 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด พืชเศรษฐกิจหลักคือสวนยางพารา โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 1,197,480 ไร่ ให้ผลผลิต 255,531 ตัน รองลงมาเป็นสวนผลไม้ ซึ่งผลไม้สำคัญคือ ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก 90,703 ไร่ ซึ่งในปี 2566 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 96,233 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.10) ทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 66,788 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 76,741 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 98.97 แนวโน้มการปลูกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันเก็บเกี่ยวทุเรียนมีดแรกจังหวัดยะลา จังหวัดยะลา มีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียน ตั้งแต่การใช้ต้นพันธุ์ดี การดูแลบำรุงรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงกระบวนการจำหน่ายไปจนถึงการส่งออกที่เน้นรักษาคุณภาพจนถึงผู้บริโภค โดยคำนึงความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ และมีมาตรการป้องกันควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ เพื่อกำกับดูแลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกผลไม้ให้จัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนได้มีมาตรการป้องปราม เพื่อให้เกษตรกร นักตัดนักคัด และผู้ประกอบการ (ล้ง) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการตัด โดยกำหนดให้มีบริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพของทุเรียนยะลาให้มีคุณภาพ เสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้คุณภาพดีของจังหวัดยะลาให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งงานเปิดฤดูกาลทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่มีส่วนในการประชาสัมพันธ์ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภค นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดยะลา ได้รับทราบถึงการเริ่มฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนของจังหวัดยะลา และเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ปี 2566 ซึ่งกำหนดวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียน “พันธุ์หมอนทอง” ประจำปี 2566 ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 โดยการรณรงค์ให้เกษตรกร ผู้รับซื้อ และผู้มีอาชีพตัดทุเรียนเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อเป็นการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นเหตุให้ทุเรียนยะลาเสียชื่อเสียง และโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
ทั้งนี้จากประมาณการผลผลิตทุเรียนยะลา ปี 2566 ประมาณ 76,741 ตัน มีการเก็บเกี่ยวรุ่นแรก ในเดือนกรกฏาคม ประมาณ 4,000 ตัน เดือนสิงหาคม คาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวสูงสุดประมาณ 45,552 ตันเดือนกันยายน ประมาณ 23,229 ตัน และตุลาคม ประมาณ 2,839 ตัน ซึ่งนับจากเดือนกรกฏาคมถึงปัจจุบันคาดว่าเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ ร้อยละ 22.5 ยะลากับการพัฒนาคุณภาพทุเรียนยะลา การปลูกทุเรียนในจังหวัดยะลาได้ขยายพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐต้องเตรียมรับมือโดยจังหวัดยะลาได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพทุเรียนในระยะยาว และเป้าหมายหลักของการพัฒนาคุณภาพทุเรียนยะลาคือ อีกทั้งการผลักดันให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP (Good Agricultural Practices) เป็นหลักปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรผลผลิตปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด ครอบคลุมการผลิตครบวงจรตั้งแต่ปัจจัยการผลิต การผลิตโดย กระบวนการผลิตต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญเป็นมาตรฐานที่ผู้ส่งออกต้องใช้รับรองผลผลิตที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสวนทุเรียนในจังหวัดยะลา มีใบรับรอง GAP ร้อยละ 12 หรือ 2,216 แปลง จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรที่เหลือขอใบรับรอง GAP ให้มากที่สุดเพื่อให้ทุเรียนยะลาเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศต่อไป
|