ข่าวภูมิภาค
กระทรวงยุติธรรมเปิดเวทีรับฟังปัญหา พบ เรือนจำยะลาเสนอ “ทหาร” พิจารณา 2 ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เข้าเกณฑ์พักโทษ
อับดุลหาดี/ยะลา/4 พ.ย. 66
กระทรวงยุติธรรมเปิดเวทีรับฟังปัญหา พบ เรือนจำยะลาเสนอ “ทหาร” พิจารณา 2 ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เข้าเกณฑ์พักโทษ – เรือนจำเบตง ร้องสร้างเรือนนอน 30 ล้านไม่มีงบซื้อกล้องCCTV
ที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานประชุมหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมในจังหวัดยะลา ให้ความสนใจรับฟังความคิดเห็นปัญหาและข้อเสนอแนะของหน่วยงานในสังกัดยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เรือนจำกลางยะลา สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดยะลา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดยะลา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดยะลา สำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเขตเก้าจังหวัดยะลา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดยะลา สาขาเบตงและเรือนจำอำเภอเบตง ร่วมขับเคลื่อของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
นายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผบ.เรือนจำกลางยะลา กล่าวที่ประชุม กรณี เรือนจำกลางจังหวัดยะลา ได้สะท้อนปัญหากรณี เรือนจำยะลามีผู้ต้องขังทั้งหมด 1,825 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังคดีความมมั่นคง 32 คนและมีจำนวน 2 คน เข้าเกณฑ์พักโทษ ซึ่ง เป็นนักโทษเด็ดขาด ที่อยู่ในชั้นเยี่ยม ต้องโทษในฐานความผิดร่วมกันก่อการร้าย มีวัตถุระเบิดในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ตั้งแต่ วันที่ 27 มกราคม 2560 กำหนดโทษ 6 ปี 11 เดือน 28 วัน กำหนดพ้นโทษ 20 มกราคม 2567 ระหว่างอยู่ในเรือนจำมีพฤติกรรมปกติเรียบร้อย แต่เมื่อมีการเสนอขอความเห็นจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่กลับไม่พิจารณาจึงได้ดำเนินการส่งเรื่องให้มีการพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้เรือนจำกลางจังหวัดยะลายังได้เสนอกรณีที่ เรือนจำจังหวัดยะลามีแดนเดียว จึงได้เสนอการขอการขยายแดน ในส่วนของนักโทษระหว่างรอพิจารณาคดี
ขณะที่ นายศรชัย ตลาสุข ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอเบตงจังหวัดยะลาได้ สะท้อนถึงปัญหากรณี การสร้างเรือนนอน 30 กว่าล้านเสร็จไปแล้วตั้งแต่ ปี 2564 ปัจจุบันยังใช้งานไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณ ซื้อกล้องวงจรปิดติดตั้งภายในเรือนนอน ซึ่งทางเรือนจำได้ทำเรื่องของบประมาณ ปีที่ผ่านมาและปีนี้ จำนวน 4 แสนกว่าบาท คาดว่าหากสามารถใช้งานได้จะลดการแออัด ภายในเรือนจำ ในจังหวัด หรือ ถ้ามี ชาวอำเภอธารโต อำเภอเบตง หรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีโทษ น้อยกว่า 10 ปี สามารถกลับมาอยู่พื้นที่ได้ และสามารถลดรายจ่ายของครอบครัวในการเดินทาง เมื่อมีผู้ต้องขังคืนถิ่นได้ตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม
ทางด้าน อิบรอเกม เบ๋ญนา ผอ.วิทยาลัยพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศอ.บต. ได้สะท้อนปัญหา กรณีผู้ต้องขังในเรือนจำมีความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังเกิดขึ้นในเรือนจำ เนื่องจากยังขาดเจ้าหน้าที่ อนุศาสนาจารย์ (อาจารย์ผู้อบรม ศีลธรรม ) ในเรือนจำ เดิมมีเฉพาะของศาสนาพุทธ แต่ยังขาดที่เป็นอนุศาสนาจารย์ ศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันผู้ต้องขังในเรือนจำโดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ต้องขังนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากจึงมีความจำเป็นที่จะให้มีตำแหน่งดังกล่าว
ในส่วนของ นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมในหลายพื้นที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนหลายพื้นที่ยังทราบถึงบทบาทการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินงานภายใต้ความเข้าใจและกรอบของการปฏิบัติด้วยความมีมนุษย์ธรรม และมีความปรารถนาที่จะนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนและที่ผ่านมาเราได้ขับเคลื่อนกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมาโดยตลอด พร้อมจะนำประเด็นปัญหาและเสียงสะท้อนดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรี (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม) ต่อไป
 
 
โพสเมื่อ : 04 พ.ย. 2566,20:29   อ่าน 113 ครั้ง